วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

                                                


การสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ในโรงเรียน



              วิชาคอมพิวเตอร์ หากมองตามหลักสูตรแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่มีวิชาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตรงๆ เลย แต่จะแทรกอยู่ในกล่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ในสาระที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศ ในหลักสูตรฯ พ.ศ.2544 และสาระที่ 3 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในหลักสูตรฯ พ.ศ.2551 วิชาคอมพิวเตอร์(เทคโนโลยีสารสนเทศ) เป็นวิชาที่ยังใหม่ต่อครูและนักเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่นๆ จึงเป็นวิชาที่ยังขาดกระบวนวิธีในการสอนเป็นการเฉพาะ ในขณะที่วิชาอื่น ๆ จะมีวิธีสอนเฉพาะของตนเอง ถึงแม้ในปัจจุบัน จะมีผู้พัฒนาทรัยากรช่วยสอน วิชาคอมพิวเตอร์ออกมามากมาย อาทิเช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นต้น แต่ถึงกระนั้น กระบวนการสอนที่เป็นวิธีการ (Activity) ก็ยังไม่ค่อยมีใครพัฒนาขึ้นมา จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการสอนคอมพิวเตอร์ ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะพบว่ามีเว็บเพจที่พูดถึงวิธีสอนวิชาคอมพิวเตอร์น้อยมาก ผู้เขียนจึงเห็นว่าพวกเรา(ครูสอนคอมพิวเตอร์) ทั้งหลายน่าจะมาช่วยกันนำเสนอแนวคิด และเทคนิควิธีสอนจากประสบการณ์ของตนเอง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งพัฒนาการในการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ในประเทศไทยต่อไป

             จากการที่ได้ร่วม อบรมเชิงปฏิบัติการด้านคอมพิวเตอร์ และร่วมพัฒนาบุคลากร ของโรงเรียนในสังกัด เกี่ยวกับการใช้ และการสอนคอมพิวเตอร์ จากการจัดกิจกรรมการอบรม พบว่า ครูและโรงเรียนแต่ละโรงเรียน มีมาตรฐานการสอนคอมพิวเตอร์ ที่แตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับนโยบายของทางโรงเรียน และความถนัดของครู ซึ่งพอจะสรุปแบ่งแยกได้ดังนี้
1.ครูเก่งมาก แต่เด็กไม่ได้เรียน
2.ครูไม่เก่ง แต่เด็กได้เรียนทุกห้องทุกสัปดาห์
3.ครูไม่มีความถนัด สอนไม่ได้
4.สอนทุกสัปดาห์ แต่ละสัปดาห์สอนเรื่องโน้นบ้าง เรื่องนี้บ้างไม่มีทิศทางแน่นอน
5.สอนในลักษณะหน่วยหนึ่งของการงานอาชีพและเทคโนโลยี
6.สอนเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน(ชุมนุมคอมพิวเตอร์)
7.สอนเป็นสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม
8.สอนแล้วก็สอนไป ไม่ได้นำผลการเรียนมาใช้ตัดสินผลการเรียน อาจเรียกว่าเรียนแบบไม่มีสาระคือเรียนเพิ่มเฉยๆ
9.เป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนก็ตัดสินแบ ผ กับ มผ ถ้าเรียนเป็นรายวิชาสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม ก็ ตัดเกรด


         การสอนวิชาคอมพิวเตอร์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการสอนการใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เช่น โปรแกรมประมวลผลคำ หรือการใช้โปรแกรมวาด และตบแต่งรูปภาพ เป็นต้น
จากการที่ผู้เขียนได้พิจารณาการสอนของตนเอง และเพื่อนครูด้วยกัน มักพบว่า ครูจะมีวิธีนำเข้าสู่บทเรียน (การเริ่มต้นฝึกใช้โปรแกรม) อยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ วิธีที่ 1. เริ่มสอนโดยการแนะนำให้นักเรียนรู้จักหน้าตา และเมนู รวมทั้งแนะนำเครื่องมือ (Toolbar) ต่าง ๆ บนโปรแกรมที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ ให้ครบถ้วนก่อน แล้วจึงเริ่มต้นสอนขั้นต่อไป ส่วนวิธีที่ 2 คือ ครูเริ่มสอนโดยการให้ผู้เรียนลองพิมพ์ข้อความสั้น ๆ ซัก 1 ประโยค ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เรียนมักชอบพิมพ์ชื่อของตนเองก่อน แล้วจึงสอนให้ผู้เรียนลองใช้คำสั่งในเมนู และเครื่องมือในแถบเครื่องมือมาบูรณาการ ปรับแต่งข้อความที่ตนเองพิมพ์ลงไปให้สวยงามถูกใจ

          จากประสบการณ์การสอนของผู้เขียน พบว่าวิธีที่ 2 จะเป็นวิธีที่กระตุ้น และเร่งเร้าความสนใจของผู้เรียน ได้ดีกว่าวิธีที่ 1 ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการสอนแบบสร้างผลผลิตนั้น นักเรียนจะได้เรียนรู้และฝึกฝนในสิ่งที่มีความหมาย ซึ่งหมายถึงการพิมพ์ข้อความ ที่อ่านออกมีความหมาย และสามารถใช้คำสั่ง ตบแต่งปรับปรุงข้อความนั้นได้ตามที่ต้องการ เมื่อเริ่มหัดใช้โปรแกรม ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยทางการศึกษาหลาย ๆ เรื่องที่กล่าวถึงวิธีสอนที่มีความหมาย จะได้ผลสัมฤทธิ์สูงกว่าวิธีสอนที่ไม่มีความหมาย และด้วยการถูกกระตุ้น อย่างมีความหมายเช่นนี้ จึงทำให้นักเรียนเกิดความสนใจ ที่จะเรียนรู้ต่อไปอีก ซึ่งทำให้ชั้นเรียนมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้ ส่วนวิธีนำเข้าสู่บทเรียนแบบแนะนำนั้น ผู้เขียนพบว่ามักจะทำให้นักเรียนเบื่อหน่าย เนื่องจากต้องนั่งดูและฟังเฉย ๆ จนกว่าครูจะแนะนำส่วนต่าง ๆ ของโปรแกรมได้หมด นอกจากจะเป็นการเสียเวลาเปล่าแล้ว ยังทำให้ชั้นเรียนเกิดสภาวะเฉื่อยชา และบั่นทอนความสนใจของนักเรียนลงไปในที่สุด


        เทคนิควิธีการสอนที่นำเสนอในบทความนี้ ผู้เขียนหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ครูคอมพิวเตอร์ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่เหนือสิ่งอื่นได้ ผู้เขียนคาดหวังไว้ว่า อยากเห็นครูคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ออกมามีส่วนร่วมใน การพัฒนางานคอมพิวเตอร์ศึกษาของไทย ให้เจริญรุดหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อให้ประเทศไทย สามารถไต่ระดับขึ้นมาเป็นแถวหน้า ของวงการวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของโลกต่อไป…


จากบทความ : ประสิทธิ์ คลังบุญครอง
โรงเรียนอนุบาลมุกดาหาร
สพป.มุกดาหาร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น